28 มีนาคม 2550 18:16 น.
“หนี้” คำสั้นๆ ที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของผู้เป็นเจ้าของ เชื่อแน่ว่าหากเลือกได้แล้วร้อยทั้งร้อยคนทุกผู้ทุกนามย่อมไม่ พึงประสงค์ที่จะมีมันเอาไว้ในครอบครองเป็นแน่ หากแต่สำหรับหลายคนที่มีจำนวนรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้จะไม่เต็มใจในการที่จะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนเอง และครอบครัว
ยิ่งในยุคนี้สมัยนี้ที่ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่ฐานเงินเดือนของคนทำ งานระดับกลางค่อนข้างต่ำยังไม่มีการปรับขึ้นให้พอดีสมดุลกัน ยิ่งทำให้เกิดการกู้ยืมเงินมากขึ้น ซึ่งความต้องการในส่วนนี้ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในรูปแบบของแบงก์ และนอนแบงก์ได้ผุดโปรโมชันใหม่ๆ ทั้งเดบิต เครดิต สินเชื่อรูปแบบต่างๆ มากมาย หลากหลายสิทธิประโยชน์ที่ทั้งสถาบันฯ พยายามชวนเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมที่ผู้บริโภคจะเสียเปรียบน้อยที่สุด ทำให้ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดของผู้ที่มีหนี้สินในประเทศไทยนั้นอยู่ ที่ประมาณ 15 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีหนี้บัตรเครดิต 9 ล้านคน และหนี้สินเชื่ออีก 6 ล้านคน!!!
สุดท้ายบรรดาคนเป็นหนี้ทั้งหลายจึงต้องมารวมตัวกันและเปิด “ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
**เปิดตัวชมรม “คนเป็นหนี้”
สาโรจน์ จิรธรรมกูล ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อธิบายถึงหนทางสู่วงจรอุบาทว์ในการเป็นหนี้ โดยได้ยกประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนทำงานคนหนึ่งที่มีรายได้ค่อนข้างดี คือประมาณเดือนละ 30,000 บาท ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้บัตรเครดิต แต่ที่ทำเพราะมีเพื่อนชวนทำบ้าง มีพนักงานบัตรมาขอร้องให้ช่วยสมัครเพื่อทำยอดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่บัตรเหล่านี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเวลาทำ จึงได้ใจอ่อนช่วยทำเอาไว้ หรือเชื่อเพื่อนเมื่อเพื่อนชักชวน ทำให้มีบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเงินด่วน ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในกระเป๋ากว่า 10 ใบ โดยแทบทุกใบอนุมัติวงเงินให้ถึง 10 เท่าของเงินเดือน คือประมาณ 300,000 บาทต่อหนึ่งใบ
“เวลามีอยู่ในกระเป๋ามันก็อดไม่ได้ ที่จะรูด รูดไปรูดมาก็รู้สึกว่ามันสะดวกดี ตอนนั้นเราพอมีกำลังจ่ายผ่อนบิลที่เรียกมาทุกเดือนได้ ก็เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร ตอนหลังมาคิดอยากทำธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือแต่ ไม่ประสบความสำเร็จ เงินเริ่มตึงมือ ก็หมุนบัตรโน้นมาจ่ายบัตรนี้ หนักเข้าเลยเป็นหนี้เต็มวงเงินทุกบัตร ก็เป็นล้านนะครับ”
สาโรจน์ เล่าต่ออีกว่า เหมือนตกนรกทั้งเป็นอยู่ 2 ปี กลับบ้านก็ไม่ได้เล่นกับลูกอย่างเคยเพราะเครียดหนักเรื่องหนี้สิน จนกระทั่งต้องมาระบายความอัดอั้นตันใจในเว็บบอร์ดของ “ผู้จัดการออนไลน์” เป็นกระทู้เล็กๆ กระทู้หนึ่งในบอร์ดนั้น แต่ปรากฏว่ามีคนเข้ามาให้คำปรึกษา พร้อมกับที่มีผู้ร่วมชะตาเดียวกันมาปรับทุกข์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการจุดประกายการสร้างสังคมของคนเป็นหนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรับทุกข์อันเกิดจากการเป็นหนี้ รวมถึงการหาทางออกให้กับชีวิตหนี้ของพวกเขา จึงเปิดเว็บไซต์ www.consumerthai.org/complinant_board1/index-php ขึ้น โดยปัจจุบันนี้มีกระทู้ในบอร์ดกว่า 20,000 กระทู้และมีสมาชิกชมรม 3,700 คน
เมื่อมีสมาชิกเยอะขึ้น และเห็นว่าควรทำกิจกรรมให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการให้คำปรึกษาอยู่ แต่เฉพาะในโลกไซเบอร์เพียงอย่างเดียว การแถลงข่าวการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของชมรมฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้เดือดร้อนจากการเป็นหนี้ได้พบปะเห็นหน้า เห็นตา และรู้ถึงการมีอยู่ของชมรมฯ นี้
“จุดประสงค์หลักของชมรมเรามี 4 ข้อ คือ ต้องการช่วยเหลือผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วน บุคคลที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แนะแนวการปลดหนี้อย่างเป็นระบบและถูกกฎหมาย เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายหนี้สิน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการคิดดอกเบี้ยและ เกิดขอบเขตของการติดตามหนี้” สาโรจน์ระบุ
**“บัตรก่อหนี้” ซื้อง่าย จ่ายคล่อง
"จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจอยากทำบัตรเครดิต แต่เห็นของแถมมันน่ารักดี ค่าทำก็ถูก ก็เลยสมัคร"
"ผมไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องทำ แต่บางทีเพื่อนๆ มาชวนทำ หรือน้องเค้ามาหาลูกค้า ก็ช่วยทำไป"
"คือเราเป็นเจ้าของกิจการ ปกติใช้แต่เงินสด แต่มีเพื่อนทักว่าระดับนี้แล้วทำไมไม่ทำบัตรไว้บ้าง ก็เลยทำ"
"เห็นว่าฟรีค่าสมัคร แถมไม่ต้องจ่ายรายปี ก็เลยทำติดกระเป๋าไว้"
นี่คือตัวอย่างเหตุผลของหลากหลาย “ชีวิตหนี้” ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงปฐมบทแห่งการทำบัตรเครดิตหลายคนไม่มีความจำ เป็นต้องทำ แต่ด้วยถูกชักชวนและเห็นถึงข้อดีที่ทางสถาบันการเงินชวนเชื่อใน เชิงว่าทำไว้ไม่เสียหายอะไร จึงตัดสินใจทำ
ที่น่าสังเกตในความเหมือนของคนเหล่านี้ คือ แม้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน แต่เมื่อทำบัตรเครดิตเอาไว้กับตัวแล้วก็อดที่จะใช้ รูดเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ไม่ได้ เนื่องจากข้อดีเฉพาะหน้าของบัตรเหล่านี้คือสามารถเนรมิตให้ผู้ใช้ กลายเป็นเศรษฐีชั่วคราวได้ภายในพริบตา และสามารถใช้การ์ดพลาสติกได้เหมือนกับการใช้เงินฟ่อนใหญ่ เพื่อซื้อความสะดวกสบายจากสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยังคงหลงใหลได้ปลื้มไปกับ เจ้าบัตรเครดิตนี้อยู่
แต่เมื่อครบรอบวาระที่บิลค่าใช้จ่ายจากบัตรส่งตามมาเก็บถึง ที่บ้าน หลายต่อหลายคนแทบถึงกับล้มตึงเมื่อเห็นตัวเลขที่ต้องจ่าย
ไหนจะค่าใช้ที่จ่ายไปจริง ค่าดอกเบี้ยรายเดือน ค่าบริการ แถมยังต้องมีค่าจ่ายเมื่อนำบิลไปจ่ายที่จุดรับจ่ายตามร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง หรือที่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ และเมื่อเกิดภาวะฝืดเคืองของบัตร วงเงินบัตรใกล้เต็มก็ทำให้ต้องหันไปใช้บริการเพิ่มด้วยการกู้บัตร อื่นเพิ่มขึ้นเพื่อเอามาโปะบัตรที่ใกล้เต็มวงเงิน เป็นการสร้างหนี้ทวีคูณขึ้นไปแบบนี้เรื่อยๆ จนไม่สามารถกู้เงินผ่านบัตรจากธนาคารหรือจากสถาบันการเงินได้ แล้ว ทำให้จำต้องหันหน้าไปพึ่งเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยสูง
**เป็นหนี้บัตรครบหันซบหนี้เถื่อน
นิรมล อัศวมณี ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความน่ากลัวของหนี้นอกระบบว่า มีผู้ที่เป็นหนี้เป็นจำนวนมากที่เป็นหนี้ทั้งธนาคารและ หนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ที่รู้จักกันในนามของ “นอนแบงก์ (NON-BANK)” และได้หมุนเงินไปมาระหว่างบัตรจนเงินตึงมือและไม่มีทางออก จนจำต้องหันหน้าเข้า สู่วงจรอุบาทว์ของหนี้นอกระบบที่ติดโฆษณาชวนเชื่อตามเสาไฟฟ้าหรือตู้ โทรศัพท์ ซึ่งเงินกู้เหล่านี้จะมีดอกเบี้ยสูงมาก แต่ในเมื่อผู้บริโภคไม่มีทางเลือกก็จำเป็นต้องยอมรับข้อตกลงที่ แสนเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่แพงมหาโหดซึ่งบางแห่งคิดเป็นรายวัน! สัญญาที่ไม่เป็นธรรม การตุกติกลักไก่เพื่อเอาเปรียบในทุกประตูที่ทำได้ แถมการติดตามทวงหนี้ที่บางเจ้าเอากันถึงขนาดข่มขู่หรือทำร้ายกัน จนเลือดตกยางออก
“จริงๆ แล้วพวกหนี้นอกระบบเหล่านี้อยากจะประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันออกปราบปรามจับมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะเป็นธุรกิจที่อาศัยความเดือดร้อนของผู้บริโภคหากำไรเกินควร เข้ากระเป๋าตนเอง”
ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังแนะนำต่ออีกด้วยว่า หากเลือกได้ไม่ควรไปใช้บริการของหนี้นอกระบบเหล่านี้ แต่หากเลือกไม่ได้ สิ่งที่ควรทำก็คือต้องอ่านเอกสารสัญญาให้ถี่ถ้วนไม่ว่าเอกสารนั้น จะมีความยาวหลายหน้ากระดาษก็ตาม
และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การหลอกล่อให้ลงชื่อในกระดาษเปล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อลงชื่อไปอย่างเด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ หรือแม้จะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากเกิดปัญหาและความยุ่งยากขึ้น เมื่อมีการลงลายเซ็นที่ยืนยันได้ว่าเป็นของจริง ศาลจะเชื่อตามหลักฐานว่าเป็นความยินยอมจากเจ้าตัวเองและทำให้ เสียเปรียบทางกฎหมาย
**นิติกรกรมบังคับคดีเผย ยุคนี้ถือว่ายืดหยุ่น
ทร ชาวพิจิตร นิติกรจากกรมบังคับคดี บอกว่า ปัจจุบันมีความอะลุ่มอล่วยในการบังคับยึดทรัพย์ของลูกหนี้มากขึ้นกว่า เมื่อก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการอายัดเงินเดือนที่ไม่ว่าจะติดหนี้มากแค่ไหน ก็จะมีอำนาจบังคับอายัดเงินเดือนใช้หนี้ได้เพียง30%ของเงินเดือน แถมหากลูกหนี้มีภาระมาก เช่นมีบุตรหลายคน ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็จะมีการพิจารณาลดหย่อนการอายัดได้อีกด้วย
“ก่อนหน้าหนี้การอายัดทรัพย์สินถือว่าค่อนข้างโหด เวลายึดนี่ยึดกันชนิดหมดตัวเหลือกันแต่บ้านเปล่าๆ แต่สมัยนี้ทางกรมบังคับคดีมีนโยบายดูแลลูกหนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะตั้งหน้าตั้งตายึดอย่างเดียว แต่จะดูแลให้ลูกหนี้พออยู่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถมีสินทรัพย์และทุนทรัพย์พอที่จะเป็นทุนรอน ในการลืมตาอ้าปาก หาเงินมาใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ได้
โดยเฉพาะในส่วนของเงินเดือนที่ก่อนหน้านี้ยึดกันแทบหมดตัว แต่เดี๋ยวนี้กรมบังคับคดีจะสามารถอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ เพื่อคืนแก่เจ้าหนี้ได้มากที่สุดเพียง30%ของเงินเดือนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหนี้และครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และหากลูกหนี้มีภาระต้องรับผิดชอบ เช่น มีลูกเยอะ มีพ่อแม่ที่แก่แล้วต้องดูแล อย่างนี้ทางกรมฯ ก็จะมีการพิจารณาลดหย่อนเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนลงให้อีกด้วย”
นิติกรจากกรมบังคับคดีกล่าวต่อไปอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ลูกหนี้ต้องประสบก็คือการที่เจ้าหนี้หรือผู้ รับทวงหนี้ปลอมแปลงเอกสารหนังสือของกรมบังคับคดีเพื่อบังคับอายัดเงินเดือน หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งในส่วนนี้อยากแนะนำว่าหากลูกหนี้พบกรณีแบบนี้สามารถ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดได้ทันที
** นักจิตฯแนะ “ยิ้มรับหนี้”
สำหรับบรรยากาศในวันเปิดตัวชมรมฯ แม้จะเลือกเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นวันเปิดตัว ก็ยังคงมีประชาชนผู้มีหนี้เป็นจำนวนกว่าร้อยคน เดินทางไปร่วมงานและได้ซักถามปัญหาต่างๆ ที่พบเจอจากการมีหนี้สิน และมีไม่น้อยที่เกิดความเครียดจากการเป็นหนี้
สุพรรณี ภู่กำชัย นักวิชาการสาธารณสุขด้านจิตวิทยา กรมสุขภาพจิต ได้แนะนำว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการตั้งสติและยอมรับกับสภาพความเป็น จริงที่เกิดขึ้น แต่ต้องพยายามจัดลำดับความคิดให้ดี อย่าสับสนหรือท้อแท้ และต้องมีทัศนคติเชิงบวกเพื่อเป็นการให้กำลังใจตนเอง
“ภาวะไม่มีสตางค์เป็นเรื่องปกติ แต่ภาวะไม่มีสตินั้นเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาของคนเราไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน อย่างแรกที่ต้องทำคือการจัดระบบความคิดและการจัดลำดับความคิด โดยส่วนตัวเห็นด้วยและรู้สึกดีกับการก่อตั้งชมรมฯ นี้ เพราะบางครั้งการเป็นหนี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีทางออกหรือไม่ มีทางเดินจนเกิดความท้อแท้นั้น ทางแก้อาจจะเป็นเพียงเส้นผมที่บังภูเขา แต่ตอนที่ชีวิตวิกฤต เราอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้ามีเพื่อน มีกัลยาณมิตรที่ดี มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ก็จะช่วยให้เรารู้ว่าไม่ได้มีเราคนเดียวที่กำลังแย่ แต่มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังต่อสู้กับปัญหา ทำให้เราเกิดกำลังใจ ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำช่องทาง ทางออกในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นประโยชน์มาก” สุพรรณีกล่าว
**ปธ.ชมรมฯยันไม่ได้หาช่องช่วยหนีหนี้
และแม้จะมีกระแสโดยอ้อมจากหลายๆ คนที่ไม่ได้เป็นหนี้ มองชมรมฯด้วยเชิงลบ และกระแสโดยตรงจากบรรดาเจ้าหนี้ที่หลายรายถึงกับยกหู โทรศัพท์มาด่าทอว่าชมรมฯดังกล่าวเปิดขึ้นเพื่อช่วยให้คนสร้างหนี้ทั้ง หลายหาช่องหนีหนี้ที่ตนเองได้ก่อไว้
ในส่วนนี้ สาโรจน์ในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิด และประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้ชี้แจงเอาไว้ อย่างชัดเจนว่า ชมรมฯ ที่ตั้งขึ้นนี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนเป็นหนี้ และไม่ใช่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาให้คนมีหนี้หนีหนี้แต่ประการใด หากแต่เป็นความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนหัวอกเดียวกัน ที่มีปัญหาหนี้สินกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหา และยังขาดความรู้ในแง่กฎหมาย ซึ่งทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้
“ตั้งแต่เราเริ่มรวมตัวในอินเทอร์ เน็ตก็ถูกโจมตีจากทั้งประชาชนทั่วไปที่ไม่มีหนี้ ที่มองเราว่าพวกเราเป็นพวกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ใช้เงินเกินตัวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินแล้วไม่มีปัญญาใช้ อันนี้ผมก็ยอมรับคนที่เป็นหนี้ด้วยการฟุ้งเฟ้อก็มี แต่เราถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะเป็นสิทธิของเขาที่จะ มีจุดประสงค์ของการนำเงินกู้ไปทำอะไร แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เป็นหนี้เป็นสินเพราะความจำเป็นบังคับ ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้ประสบปัญญาหลักๆ 2 ประการคือการขาดความรู้ด้านกฎหมายหนี้สิน ทำให้เจ้าหนี้เอาเปรียบ พยายามเรียกเก็บหนี้จนเขาไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ คือมีเงินเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายหนี้หมด ทั้งที่กรมบังคับคดีก็มีกฎว่าเจ้าหน้าที่แจ้งอายัดเงินเดือนได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่บางคนไม่รู้ ในส่วนนี้ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องจ่ายเจ้าหนี้แทบเต็มจำ นวนเงินเดือนจนตนเองไม่มีเงินใช้”
“ที่เราพยายามจะทำก็คือให้ คำปรึกษา หาช่องทางให้คนเหล่านี้มีที่ยืนหยุดพัก และมีแรงมีกำลังพอจะหาเงินมาใช้หนี้ได้ใหม่ ให้ชีวิตลืมตาอ้าปากได้ แต่เจ้าหนี้ก็โทรมาด่าเรานะ หาว่าเราหาช่องให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ได้น้อยลง ทำให้รายได้ของเขาแต่ละเดือนลดลงด้วยแต่ที่ยืนยันอย่างที่สุดคือ ทุกคำแนะนำของเราจะเป็นการแนะนำให้หาทางออกแบบถูกกฎหมายทั้งนั้น ครับ” สาโรจน์ยืนยันทิ้งท้าย
########################
เรื่อง...เจิมใจ แย้มผกา
ผู้จัดการรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น